28 ก.พ. 2024 11:00:00 กิจกรรม อบต.อ่างศิลา 93

"ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง" อ.พิบูลมังสาหาร ผนึกกำลังส่วนราชการ จัดกิจกรรม "ทางนี้มีผล ผู้คนรักคน" ริมถนนข้างที่ว่าการอำเภอ
พร้อมเป็นต้นแบบการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและกิจกรรมวันดินโลก 

วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567
          นายสรชาย ครองยุทธ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมด้วย ปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่ทำการปกครองอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอและเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างศิลา นำโดย นายฤทธิเกียรติ สีแสด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นางประคอง คำนึง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างศิลาและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ให้ความอนุเคราะห์ต้นกล้วยจากแปลง "โคกหนองนา" เพื่อจัดกิจกรรม "ทางนี้มีผล ผู้คนรักคน" โดยการปลูกกล้วยบริเวณริมถนนข้างอาคารที่ว่าการอำเภอและบ้านพักนายอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย
          นายสรชาย ครองยุทธ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้เปิดเผยว่า "สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการปลูกไม้ผลและผักสวนครัวบริเวณที่ว่าการอำเภอและบ้านพักนายอำเภอพิบูลมังสาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ "เส้นทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย โดยนอกจากจะทำการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร โดยร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันจัดกิจกรรม 5 ส ตลอดระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมาแล้ว ยังได้วางแผนจะทำการปลูกต้นไม้และผักสวนครัวในพื้นที่บริเวณที่ว่าการอำเภอ ก่อนเป็นต้นแบบและขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป"
ขณะที่ นายภคิน ศรีวงศ์ พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้กล่าวว่า "กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่เป็นการขานรับนโยบายและการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ว่า "ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง" เพื่อขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร " ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 อย่างต่อเนื่อง ตามประเด็นเน้นย้ำ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนข้อที่ 2 ขยายผลการปลูกผักจาก 10 ชนิด เป็น 30 ชนิด และปลูกผักในในที่ว่าการอำเภอครบทุกอำเภอ"
"ในวันนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนความต่อเนื่องในการเป็นต้นแบบในการมีส่วนร่วมและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ เกิดกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่องในอีกหลากหลายพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนในอำเภอพิบูลมังสาหาร และพื้นที่ใกล้เคียง ขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างศิลา นำโดย นายฤทธิเกียรติ สีแสด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นางประคอง คำนึง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างศิลาและเจ้าหน้าที่ในสังกัด ที่ได้ให้การสนับสนุนต้นกล้วยจากแปลง "โคกหนองนา" ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเกษตรอำเภอพิบูลมังสาหาร ที่ได้เตรียมสถานที่ ประสานงานและทำการปลูกผักสวนครัวบริเวณบ้านพักนายอำเภอพิบูลมังสาหารก่อนหน้านี้" พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร กล่าวอย่างมีความสุข
กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือน พร้อมทั้งน้อมนําแนวพระราชดําริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการดําเนินงาน 6 กระบวนงาน ได้แก่  1) ผู้นําต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง 2) ผู้นําต้องทำก่อน 3) นักพัฒนา 3 ประสาน กลไกการขับเคลื่อน 4) ทุกครัวเรือนคือคลังอาหาร ทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน 5) ทักษะชีวิตวิถีใหม่เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น  6) ถอดรหัสการพัฒนา : ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่  1 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ด้วยการรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เน้นการพึ่งตนเองและความสามัคคีของคนในชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดและขยายผลอย่างต่อเนื่องให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการเพิ่มเติมเป้าหมายการดำเนินการของครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 30 ชนิด ให้เต็มพื้นที่ครบทุกครัวเรือน พร้อมทั้งมีการรณรงค์ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรม “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และกระบวนงาน “ทุกครัวเรือนคือคลังอาหารทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน” กระบวนงาน “ทักษะชีวิตใหม่เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น” ให้เต็มพื้นที่ 25 อำเภอ 
นอกจากนั้น หลังจากทำการปลูกพืช ปลูกกล้วยแล้ว ยังได้ห่มดินด้วยฟางร่วมกัน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืช ถือเป็นการให้ความสำคัญกับดินตามหลักกสิกรรมธรรมชาติและถือส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย